โบราณสถาน

 

อนุสรณ์สถานศรีปราชญ์

อนุสรณ์สถานศรีปราชญ์ ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ฝั่งก.ณ.1 ประกอบด้วยสระล้างดาบศรีปราชญ์และ
สระล้างดาบศรีปราชญ์ถือกันตามตำนานว่าเป็นอนุสรณ์การตายของศรีปราชญ์ ผู้เป็นกวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกเนรเทศมาอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาเกิดมีความขัดเคืองใจแก่เจ้านครศรีธรรมราช จึงถูกสั่งประหาร หลังจากประหารศรีปราชญ์แล้วเพชฌฆาตได้นำดาบมาล้างที่สระแห่งนี้ เล่ากันว่าแต่เดิมสระล้างดาบมีขนาดใหญ่มากคือตั้งแต่บริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดปัจจุบัน จนถึงหลังโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช แต่ต่อมาเกิดความตื้นเขิน และบางส่วนทางเทศบาลจำเป็นต้องถมเพื่อตัดถนน จึงเหลือให้เห็นเพียงสระที่อยู่ในเขตโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขุนอาเทศคดี ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองนครได้แย้งว่า สระดังที่กล่าวนั้นหาใช้สระล้างดาบศรีปราชญ์ไม่ หากเป็นสระที่ขุดขึ้นใหม่ในพ.ศ. 2448 เพื่อให้เจ้านายฝ่ายในที่ยังทรงพระเยาว์ได้พายเรือเล่น ทั้งยังได้ยืนยันว่า สระล้างดาบศรีปราชญ์แท้จริงนั้น อยู่บริเวณหลังศาลาประดู่หก แต่ในปี พ.ศ. 2476 ถูกถมเพื่อสร้างที่ทำการและที่พักข้าหลวงภาค 8ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านพักประมงจังหวัด และศูนย์จักรกลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

ด้วยความที่สระล้างดาบศรีปราชญ์บริเวณโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เป็นเพียงสถานที่เดียวในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์การประหารชีวิตศรีปราชญ์ในครั้งนั้น ประกอบกับการที่ชาวกัลยาณีศรีธรรมราชและชาวเมืองนครศรีธรรมราช ให้ความเคารพสักการะศรีปราชญ์ ว่าเป็นบรมครูแห่งกานท์กลอนคนหนึ่งของประเทศ จึงทำให้ทุกองค์กรในโรงเรียน และจังหวัด เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรสร้างอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ จึงร่วมกันประสานงานเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบรูปหล่อโลหะ และ ทำพิธีทางศาสนา พราหมณ์และพุทธ โดยประดิษฐานอนุสาวรีย์ ณ ทิศหรดีแห่งสระล้างดาบศรีปราชญ์ ซึ่งอนุสรณ์ศรีปราชญ์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในสมัยผู้อำนวยการอนันต์ สุนทรานุรักษ์

ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ ยังความปลาบปลื้มแก่ชาวกัลยาณีศรีธรรมราชและชาวนครศรีธรรมราชเป็นล้นพ้น

 

 

พระวิหารสูง หรือ หอพระสูง

หอพระวิหารสูง หรือชาวกัลยาณีศรีธรรมราชเรียกกันว่า”พระสูง” นั้นประดิษฐานอยู่ในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ฝั่งก.ณ.2

เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ใกล้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนราชดำเนิน
เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติถึง 2.10 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามารถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรม
และจิตรกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23–24 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารแน่ชัดเกี่ยวกับประวัติการสร้างหอพระสูงแห่งนี้ แต่มีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เนินดินขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานหอพระสูงนั้น
ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมเป็นเนินขนาดใหญ่เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดกั้นทัพพม่า ในคราวที่ได้มีการยกทัพใหญ่ลงมาตีหัวเมืองหน้าด่านต่าง ๆ ทางภาคใต้
ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา จนถึงนครศรีธรรมราช บริเวณสนามหน้าเมืองน่าจะเป็นสนามรบและตั้งทัพตามกลยุทธ์ในการจัดทัพออกศึก เพื่อต่อสู้ประจัญบาน ต่อมาบริเวณแห่งนี้กลายเป็น
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้มีการก่อสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชา และได้สร้างวิหารครอบองค์พระพุทธรูปในเวลาต่อมา

รูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๕.๙๐ เมตร ยาว ๑๓.๒๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุง
กระเบื้องดินเผาผนังด้านข้างเยื้องมาทางด้านหน้าทั้งสองด้านเจาะเป็นกรอบหน้าต่าง ทำช่องรับแสงในกรอบเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างก่อด้วยอิฐเป็นตะพัก ๔ ชั้น ด้านหน้าทางขึ้นเป็น
บันไดต่อจากเนินเข้าไปยังพระวิหาร

รูปแบบประติมากรรม ได้แก่ องค์พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย แกนพระพุทธรูปทำด้วยดินเหนียวโบกปูนปั้น องค์พระภายนอกขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๔๐ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร ลักษณะอวบอ้วน
พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เป็นรูปคันศร พระศอเป็นริ้ว พระกรรณห้อยต่ำอยู่ใต้พระศก พระเกศาเกล้าเป็นมวย เม็ดพระศกเป็นขมวดปนเล็ก ยอดพระเกตุมาลา
อาจหักหายไปครองผ้าสังฆาฏิเฉียงจากพระอังสาซ้ายมาจรดพระนาภี ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวินิจฉัยว่าควรจัดอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ สมัยอยุธยาตอนปลาย
หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ทางด้านหลังขอหอพระสูงพบพุทธรูปหินทรายแดง ปางมารวิชัย เศียรหักหายไป ส่วนฐานมีจารึกภาษาขอม รูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเป็นรูปดอกไม้ห้อยลง กลีบดอกเขียนด้วย
สีน้ำตาลจำนวน ๘ กลีบ ด้านดอกเขียนสีน้ำเงินหรือสีคราม ส่วนก้านเกสรเป็นลายไทย ดูอ่อนช้อยสวยงาม ส่วนใต้ฐานพระพุทธรูปเป็นลายจีน เข้าใจว่าคงเขียนขึ้นภายหลัง รูปแบบของ
จิตรกรรมฝาผนังคล้ายงานเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีอิทธิพลจีนเข้ามาปะปนผสมกับลวดลายไทย

บ่อน้ำสำคัญ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช